ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ (อังกฤษ: influenza หรือ flu) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการเล็กน้อยไปถึงรุนแรง อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอและรู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้ตรงแบบเริ่มสองวันหลังได้รับไวรัสและส่วนมากอยู่นานไม่เกินสัปดาห์ ทว่า อาการไออาจกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ได้ ในเด็ก อาจมีคลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่ใช่อาการปกติในผู้ใหญ่ อาการคลื่นไส้อาเจียนเกินบ่อยกว่าในกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบซึ่งเป็นโรคติดเชื้ออีกโรคหนึ่ง ที่บ้างเรียกผิด ๆ ว่าเป็น "ไข้หวัดลงกระเพาะ" (stomach flu) หรือ "ไข้หวัด 24 ชั่วโมง" (24-hour flu) อาการแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจมีปอดบวมจากไวรัส ปอดบวมจากแบคทีเรียตาม โพรงอากาศ (sinus) ติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมแย่ลง เช่น โรคหอบหืดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
โดยทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ติดต่อผ่านอากาศโดยการไอหรือจาม ซึ่งปลดปล่อยละอองลอยที่มีไวรัส ไข้หวัดใหญ่ยังสามารถส่งผ่านโดยการสัมผัสโดยตรงกับมูลหรือสารคัดหลั่งจากจมูกของนก หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน คาดกันว่าละอองลอยที่มาทางอากาศก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด แต่ยังไม่ทราบช่องทางการส่งผ่านที่สำคัญที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถลดฤทธิ์ด้วยแสงแดด สารฆ่าเชื้อและสารชะล้างได้ การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะสบู่สามารถลดฤทธิ์ไวรัส
รู้จักยุงลาย
รู้จักยุงลาย
เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เจ้ายุงลาย แมลงตัวเล็กๆ ที่บินวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรานั้น นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง โอกาสนี้ ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุงลายในมุมที่ใครหลายคนอาจไม่เคยทราบหรือคาดไม่ถึง มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะได้รู้เท่าทันและจัดการเจ้าวายร้ายตัวน้อยนี้ได้อย่างอยู่หมัด
เริ่มกันที่สถานที่เพาะพันธ์ยุงลาย ยุงลายจะวางไข่ในภาชนะที่มีขอบ มีผนัง เนื่องจากแม่ยุงลายเวลาวางไข่ต้องมีผนังไว้เดินไต่ และวางไข่เหนือผิวน้ำประมาณ 1 เซนติเมตร ยุงลายจึงไข่เหนือน้ำ ไม่ได้ไข่ในน้ำเหมือนยุงชนิดอื่น ห้วยหนองที่มีน้ำขังตามธรรมชาติจึงไม่ใช่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงลายจะวางไข่ในน้ำใส น้ำนิ่ง หากมีถังน้ำที่ไม่มีฝาปิด ให้ใช้วิธีเปิดน้ำให้หยดติ๋งๆ ตลอดเวลา น้ำจะกระเพื่อม ทำให้ยุงลายไม่มาวางไข่ ส่วนลูกน้ำที่พบในน้ำเน่า ในคู ที่เรามักตักมาเลี้ยงปลากัดนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกน้ำยุงรำคาญ ไม่ใช่ลูกน้ำยุงลาย แต่หากผู้เลี้ยงปลาไม่สบายใจ แนะนำให้เลี้ยงในภาชนะปากแคบแล้วเอาผ้ามุ้งปิดไว้ ถ้าเห็นมียุงมาเกาะที่ผ้ามุ้ง ให้พลิกขวดแค่นี้ยุงก็ตายแล้ว
ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีสีมืดเข้มหรือที่มีรูพรุน ผิวขรุขระ จึงควรเลือกภาชนะเก็บน้ำที่มีสีอ่อนๆ ในห้องน้ำควรใช้ถังพลาสติกเก็บน้ำแทนที่เก็บน้ำแบบซีเมนต์ หากระดับน้ำในภาชนะเหลือน้อย ส่วนใหญ่ไม่ถึงศอกและมีเงามืด ยุงลายจะชอบ สังเกตได้ว่าหากน้ำลึกเกิน 1 เมตรจะมียุงวางไข่น้อยมาก ยิ่งถ้าใส่น้ำให้เต็มปริ่มขอบก็จะไม่มียุงมาวางไข่เลย แม่ยุงลายเวลาไข่สุกจะหนักท้อง จึงชอบวางไข่ในที่ต่ำๆ มืดๆ หลักการควบคุมลูกน้ำยุงลายคือ จะทำอย่างไรให้มีน้ำขังน้อยที่สุด เช่น หากน้ำที่บ้านไหลสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องเก็บน้ำ เก็บสิ่งของเหลือใช้ที่อยู่บริเวณบ้าน ก็จะไม่มีที่ให้น้ำขัง ลดภาชนะที่ไม่จำเป็นภายในบ้าน เช่น แจกันหรือที่ใส่น้ำเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ที่วางอยู่นอกบ้าน ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น
ว่าด้วยเรื่องลักษณะการหากินของยุงลาย ยุงลายบินหากินไม่ไกล ในเวลา 24 ชั่วโมง จะบินไปไม่เกิน 100 เมตร เนื่องจากยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบ้าน มีเหยื่อให้ดูดเลือดอยู่แล้ว และยังมีที่ให้วางไข่ ที่ให้เกาะพักอีกด้วย จึงไม่จำเป็นจะต้องบินไปหากินไกลๆ ยุงลายชอบเกาะพักในที่มืด อับชื้น และมักจะกลัวแดดกลัวลม จะไม่บินไปวางไข่หรือกัดคนกลางแจ้งเด็ดขาด ภาชนะที่วางกลางแดด กลางแจ้งจะไม่เป็นที่วางไข่ของยุงลาย การจัดบ้านให้สว่าง โล่ง โปร่ง ลมพัดดี ก็จะทำให้ยุงลายไม่มากัดคนในบ้าน
โรค มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก
เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โรคปากเท้าเปื่อยส่วนใหญ่เกิดจาการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจากEnterovirus 71 อาจเป็นแบบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ Aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบสมองอักเสบ encephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมองทำให้หมดสติ หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะทำให้เกิดหัวใจวาย ความดันโลหิตจะต่ำ มีอาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก
อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรค ไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ
1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน
2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว
3. ตับโต
4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ